“นวราตรี” แปลว่า “เก้าคืน” เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของชาวฮินดู มีการเฉลิมฉลองเป็นเวลา 9 คืน เทศกาลนวราตรีจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี มักจะจัดขึ้นในรัฐทางตะวันตกและทางเหนือของประเทศอินเดีย ส่วนในประเทศไทยจัดขึ้นที่ วัดแขกสีลม
ซึ่งแต่ละฤดูกาลของประเทศอินเดียจะมีเทศกาลนวราตรีเกิดขึ้นแตกต่างกันออกไป เช่น “Sharada Navaratri” , “Durga Puja” เป็นต้น
กำหนดการงานนวราตรี วัดแขกสีลม ประจำปี 2565 อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>
เทศกาลนวราตรีมีความสำคัญอย่างไร ?
เชื่อกันว่า ในช่วงเทศกาลนวราตรี 9 คืน เป็นการปลุกพลังของพระแม่เจ้าผู้เป็นใหญ่ มีพลังอำนาจ บารมีเหลือล้น พร้อมสรรสร้างประทานพรให้แก่มนุษย์ ตามคำลำลือเทวาหญิงผู้เป็นใหญ่องค์นั้นคือ พระแม่ทุรคา มีความหมายว่า ผู้ขจัดความทุกข์ทั้งปวง
ตามตำนาน นวราตรี เป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระแม่ทุรคาที่ปราบปีศาจมหิศสุระสำเร็จ โดยใช้เวลาในการสู้รบทั้งหมด 9 คืน ดังนั้นเทศกาลนวราตรีจึงจัดขึ้นเป็น 9 คืน เพื่อเฉลิมฉลองอุทิศให้กับอวตารของเทพธิดาทั้ง 9 รูป
ปีศาจมหิศสุระ เป็นปีศาจทรงพลังและเป็นอมตะ ไม่สามารถสังหารด้วยอาวุธใดได้ เขาจึงหยิ่งและเริ่มสังหารผู้บริสุทธิ์ พระเจ้าพรหม พระวิษณุ พระศิวะ และเทพอื่นๆ จึงรวมพลังสร้างเทพธิดาผู้แข็งแกร่งขึ้น นามว่า “ทุรคา” เพื่อมาปราบปีศาจมหิศสุระ ทุรคาใช้เวลาสู้กับปีศาจมหิศสุระเป็นเวลา 9 คืน และในวันที่ 10 สามารถตัดหัวปีศาจมหิศสุระ นำมาสู่ชัยชนะได้ในที่สุด
9 คืน แห่งการเฉลิมฉลองนวราตรี
เมื่อเทศกาลนวราตรีมาถึง พิธีการบูชาพระแม่ทุรคาเริ่มขึ้น ในแต่ละวันจะมีพิธีบูชาอวตารของเทพธิดาทั้ง 9 รูป และตามธรรมเนียมจะมีการใส่เสื้อผ้าสีต่างๆ ประจำวันด้วย
วันที่ 1: ไศลบุตรี (Shailaputri)
เริ่มต้นเทศกาลนวราตรี ด้วยการบูชา พระแม่ปางไศลบุตรี แปลว่า ธิดาแห่งขุนเขา ในร่างอวตารนี้เธอเป็นบุตรีของกษัตริย์แห่งเทือกเขาหิมาลายา พระแม่ไศลบุตรีทรงขี่วัวกระทิง มือขวาถือตรีศูลมือซ้ายถือดอกบัว มีการประกอบพิธีกรรมเรียกว่า กัฏฐาปานะ
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีส้ม แสดงถึงพลังและความสุข
วันที่ 2: พรหมจารินี (Brahmachari)
พระแม่ปางพรหมจารินี เทพธิดาผู้อุทิศตนแห่งการเรียนรู้ ความสงบสุข ความจงรักภักดี พระแม่พรหมจารินีนุ่งห่มเสื้อผ้าสีขาว มือขวาถือจาปามาลาหรือสายประคำอธิษฐาน มือซ้ายถือคามานดัลหรือหม้อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีขาว แสดงถึงความสงบและความบริสุทธิ์
วันที่ 3: จันทรากันตา (Chandraghanta)
พระแม่ปางจันทรากันตา เป็นร่างอวตารของพระแม่ทุรคาช่วงวิวาห์กับพระศิวะ พระแม่จันทรากันตามีสิริโฉมงดงามและกล้าหาญ ทรงประทับบนหลังเสือโคร่ง มีสัญลักษณ์พระจันครึ่งดวงบนหน้าผาก (ตาที่สาม) มีมือ 10 มือ ทรงถืออาวุธหลากหลายชนิด
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีแดง แสดงถึงความงดงามและความกล้าหาญ
วันที่ 4: กูษามาณฑา (Kushmanda)
พระแม่ปางกูษามาณฑา ว่ากันว่าเป็นอวตารที่สร้างจักรวาลด้วยการหัวเราะเพียงครั้งเดียวและเป็นปางเดียวที่แสดงออกถึงความสุข ทรงอาศัยอยู่ภายในดวงอาทิตย์และสร้างจักรวาลโดยให้แสงสว่างและพลังงานแก่จักรวาล พระแม่กูษามาณฑาประทับบนหลังเสือ มีแขน 8 แขน
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีน้ำเงิน แสดงถึงความมั่งคั่งและการมีสุขภาพที่ดี
วันที่ 5: สกันทมาตา (Skandamata)
พระแม่ปางสกันทมาตา เป็นอวตารของพระแม่ทุรคาในภาพลักษณ์พระมารดาของพระสกันทะ (เทพเจ้าแห่งสงคราม) ลูกชายของพระอิศวรและเป็นน้องชายของพระพิฆเนศ พระแม่สกันทมาตาประทับบนหลังสิงโต มีแขน 4 แขน ทรงถือดอกบัวไว้ 2 มือ และมือขวาอุ้มพระะสกันทะไว้ มือซ้ายทรงทำมืออภัยมุทรา
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีเหลือง แสดงถึงความสุขและความสว่าง
วันที่ 6: กาตญายนี(Katyayani)
พระแม่ปางกาตญายนี เป็นร่างอวตารของพระแม่ทุรคาที่แปลงกายต่อสู้และทำลายปีศาจมหิศสุระ เป็นอวตารที่ดุและรุนแรงที่สุด ขนานนามว่าเทพธิดาแห่งนักรบ ทรงประทับบนสิงโตมีชื่อว่าสีหะพานาราช มือขวาทำมือภัยมุทรา มือซ้ายถือดาบ มือขวาบนทำมือวราทามุทรา และมือซ้ายบนถือดอกบัว
พระแม่กาตญายนีมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “พระแม่มหิษาสุรมรรทินี” ซึ่งแปลว่าผู้สังหารมหิษาสูร ทรงมี 10 มือ ถือ จักรสังข์ ดาบ คทา ธนู ลูกศร งู ดอกบัว ถาดไฟ และตรีศูล
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีเขียว แสดงถึงการเริ่มต้นและการเติบโตใหม่
วันที่ 7: กาลาราตรี (Kalaratri)
พระแม่ปางกาลาราตรี หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า พระแม่กาลี เป็นร่างอวตารที่ดุร้ายที่สุดของพระแม่ทุรคา เป็นตัวแทนของการปกป้องสิ่งชั่วร้าย ขจัดปัญหาทั้งหมดทั้งมวล พระแม่กาลีทรงมีพระกายสีดำ ผมกระเซิง ประทับบนลา มีเครื่องประดับเป็นหัวกะโหลก มือขวาล่างทำมือวรทามุทรา มือขวาบนทำมืออภัยมุทรา มือซ้ายบนทรงถือดาบ มือซ้ายล่างทรงถือวัชระ
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีเทา แสดงถึงความแข็งแกร่งและการเปลี่ยนแปลง
วันที่ 8: มหาเการี (Mahagauri)
พระแม่ปางมหาเการี แปลว่า สว่าง ผู้มีผิวพรรณงดงามผุดผ่อง สมบูรณ์แบบ พระแม่มหาเการี เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระคุณ การชำระบาป และความดี ทรงประทับบนหลังวัว มือขวาบนถือตรีศูล มือขวาล่างทรงทำมืออภัยมุทรา มือซ้ายบนทำมือวรทามุทรา และมือซ้ายล่างทรงถือกลองบัณเฑาะ
สีเสื้อผ้าประจำวัน : สีม่วง แสดงถึงควาพลังแห่งสติปัญญาและความสงบสุข
วันที่ 9: สิทธิธาตรี (Sidhidhatri)
พระแม่ปางสิทธิทาตรี เป็นเทพธิดาที่รวบรวมทั้งแปดสิทธิหรือพลังเหนือธรรมชาติไว้ด้วยกัน เทศกาลนวราตรีจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า นวมิ เป็นช่วงที่ผู้ศรัทธาสวดอ้อนวอนต่อพระแม่สิทธิทาตรี พระแม่สิทธิทาตรีประทับอยู่บนดอกบัว มือขวาบนถือจักร มือขวาล่างถือคทา มือซ้ายบนถือสังข์ พระมือซ้ายล่างถือดอกบัว
สีเสื้อผ้าประจำวัน : วันนี้จะมีการสวมใส่ชุดเขียวขนนกเป็ดน้ำหรือสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเติมเต็มความปรารถนาของผู้ศรัทธา
หัวใจแห่งความศรัทธา เทศาลนวราตรี
ด้วยหัวใจแห่งความศรัทธา ความเชื่อว่า ในช่วงนวราตรีนี้ เป็นช่วงเวลาอันมงคล ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ทำธุรกิจใหม่ พระแม่ทุรคาจะทรงเมตตามอบความเจริญรุ่งเรือง ทั้งนี้ผู้ศรัทธาจะยึดมั่นถือศีลอดตลอดจนจบเทศกาลนวราตรีและภาวนาจิตอธิษฐานขอความคุ้มครองสุขภาพ ทรัพย์สิน ความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ตนเอง เป็นช่วงเวลาแห่งการวิปัสสนาและการทำจิตใจให้สงบ บริสุทธิ์